วันพุธที่ 20 มกราคม 2564 รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นประธานในพิธีแถลงข่าว การจัดการปัญหาหมอกควันไฟป่าอย่างครบวงจรและยั่งยืน (แม่โจ้-โมเดล ลดหมอกควันไฟป่า) ร่วมด้วย รองศาสตราจารย์พาวิน มะโนชัย รองอธิการบดี, อาจารย์จักรพงษ์ ไชยวงศ์ ผู้ช่วยคณบดีคณะผลิตกรรมการเกษตร, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ ไชยชนะ รองคณบดีวิทยาลัยพลังงานทดแทนฝ่ายวิชาการและพัฒนานักศึกษา, รองศาสตราจารย์ ดร.สมเกียรติ ชัยพิบูลย์ คณบดีคณะสารสนเทศและการสื่อสาร, และ รองศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ สุวรรณรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร เป็นผู้ร่วมแถลงข่าว พร้อมทั้งจัดแสดง นิทรรศการ ผลงานวิจัย นวัตกรรม ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการร่วมกันจัดการปัญหาหมอกควันไฟป่า ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ อย่างเป็นระบบ ครบวงจร และยั่งยืน ณ ลานหน้าอาคารสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่
มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จัดการแถลงข่าวการจัดการปัญหาหมอกควันไฟป่าอย่างครบวงจรและยั่งยืน ด้วยการบูรณาการอย่างไร้รอยต่อด้วยองค์ความรู้ทั้งด้านเกษตร เทคโนโลยี นวัตกรรมการบริหารจัดการและประสานความร่วมมือกับนักวิชาการ นักวิจัยที่มีความรู้ความสามารถในการช่วยสนับสนุนการจัดการปัญหาหมอกควันไฟป่าได้อย่างครบวงจรและยั่งยืน โดยกระบวนการที่ครอบคลุมตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ร่วมกับเจ้าของพื้นที่ เจ้าหน้าที่ภาครัฐ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น บนพื้นฐานของการเกษตรเพื่อยังชีพ เพื่ออยู่รอด และเพื่อยั่งยืนบนพื้นฐานของทรัพยากรและวัฒนธรรม เน้นการพึ่งพาตนเองซึ่งเป็นความถนัดพื้นฐานของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จากภูเขาสู่ทะเล เช่นโครงการแม่แจ่มโมเดล โครงการสารภีโมเดล โครงการสันทรายโมเดล โครงการความมั่นคงด้านอาหารโปรตีนบนพื้นที่สูง โครงการการเรียนรู้เพื่อชีวิตที่ดีงาม (อาหาร ยา ผ้า บ้าน) โครงการดิน น้ำ ป่า ปัญญา อาชีพ โครงการสร้างชุมชนเชิงดอนสร้างสรรค์ โครงการสภาลมหายใจ โครงการหมอต้นไม้ และอื่น ๆ
1. สร้างอาหาร ด้วยการเริ่มที่ต้นเหตุแห่งปัญหา
ด้วยองค์ความรู้ทางด้านการเกษตรเพื่อยังชีพ เพื่ออยู่รอด และเพื่อความยั่งยืน ด้วยเกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรอินทรีย์ เกษตรอัจฉริยะ เกษตรผสมผสาน การเลี้ยงสัตว์น้ำ การเลี้ยงหมู การเลี้ยงไก่ การเลี้ยงแพะ การปลูกป่าสร้างอาชีพ การจัดการน้ำ สร้างป่าเปียกด้วยบ่อน้ำกระจายความชุ่มชื้นในป่า การสำรวจติดตามจุดความร้อน การสำรวจติดตามสภาพพื้นที่เสี่ยงโดย UAV การให้ความรู้แก่ชุมชน สังคม โรงเรียน วัด ในเรื่องการจัดการปัญหาหมอกควันไฟป่า
2. สร้างอาชีพ ด้วยกิจกรรมการผลิตที่มากขึ้น และการแปรรูปด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสมนำไปสู่การขายที่ตรงกับความต้องการของตลาด
มุ่งเป็นการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ซึ่งเป็นแนวทางที่ทำให้ประชาชนนั้นพึ่งพาตนเองได้ด้วยฐานทรัพยากรของท้องถิ่นตนเอง
2.1 การผลิตทางด้านพืช เช่น การสร้างสร้างป่าสามอย่างประโยชน์สี่อย่าง เมล็ดพันธุ์พืชอินทรีย์ท้องถิ่น เห็ดป่าลดการเผา ภาชนะ วัสดุปลูกจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร วัสดุปลูกอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก สารบำรุงดินสูตรแม่โจ้
2.2 การผลิตทางด้านสัตว์ เช่น การเลี้ยงปลาด้วยฟางข้าว การเพาะขยายพันธุ์ปลาท้องถิ่น ธนาคารหมู ไก่ไข่พื้นเมือง ไก่เนื้อพื้นเมือง วัวเนื้อเลี้ยงด้วยอาหารข้นหมักเอง อาหารสัตว์อินทรีย์ รวมถึงโรงเชือดอินทรีย์
2.3 การลดพลังงานหรือการใช้พลังงานธรรมชาติ เช่นเทคโนโลยีพลังงานทดแทนลดควัน พลังงานแสงแดด พลังงานลม เป็นต้น
2.4 การแปรรูป การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรโดยใช้พลังงานทดแทน แปรรูปสินค้าที่เป็นที่ต้องการของตลาด และเพิ่มมูลค่า เช่นสมุนไพรตากแห้ง อบ หรือสกัดสาระสำคัญ
2.5 การสร้างการตลาดหลายช่องทาง สร้างการบริโภคในชุมชน สร้างความเชื่อมโยงการตลาดออนไลน์ สร้างอาชีพใหม่ การหาตลาดใหม่
2.6 การท่องเที่ยวเชิงนิเวศและเชิงอนุรักษ์
3. สร้างอาวุธ (ปัญญา) พัฒนาความรู้อย่างต่อเนื่องและสนับสนุนการทำงานของส่วนกลาง
มีการเรียนรู้และสะสมองค์ความรู้เพื่อสามารถแก้ปัญหาและยกระดับความรู้สู่การเพิ่มศักยภาพในการผลิต ส่งผลให้มีรายได้ดีและนำไปสู่การอยู่ร่วมกันกับสิ่งแวดล้อมที่ดี
3.1 ต่อปัญญา สนับสนุนชุมชนและโรงเรียนจำนวนมาก สร้างและพัฒนาชุมชนจนสามารถเลี้ยงตัวเองได้ ส่งเสริมเรื่องการศึกษา
3.2 ต่อสิ่งแวดล้อม เช่น เครื่องกรองอากาศอย่างง่าย ราคาถูก ผลิตเองได้ พื้นที่ป่าปอด ต้นไม้ฟอกอากาศ การจัดการขยะตามแนวทาง Zero Waste การผลิตไบโอชาร์ การผลิตน้ำส้มควันไม้ การตรวจวัดและเตือนภัยฝุ่นละอองในอากาศ การสนับสนุนชี้เป้าจุดเกิดหมอกควันไฟป่าให้กับเจ้าหน้าที่โดยใช้ UAV อาสาสมัครป้องกันไฟป่า ลด GHG Emission มากกว่า 10,000 kg CO2-eq/ปี)
3.3 ต่อพันธมิตร มีหน่วยงานพันธมิตรหลากหลายจากภาครัฐและเอกชนกว่า 20 หน่วยงาน เช่น บริษัทเชียงใหม่วิสาหกิจเพื่อสังคม มณฑลทหารบกที่ 3 โรงเรียน วัด มหาวิทยาลัย ชุมชนกว่า 100 ชุมชน กลุ่มเยาวชนในโรงเรียนลดหมอกควัน สร้างรายได้และลดรายจ่ายในครัวเรือน.
การดำเนินการแบบองค์รวมที่มาจากพื้นฐานของทรัพยากรในท้องถิ่นด้วยการพัฒนาและยกระดับให้ทุกอย่างมีคุณค่า ร่วมกันแก้ปัญหาที่ปากท้องด้วยการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร เมื่อเข้าใจผลิตได้มากแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าเป็นการสร้างอาชีพ จนกระทั่งชำนาญนำไปสู่การสร้างสมประสบการณ์เป็นองค์ความรู้ที่นำมาใช้เพื่อพัฒนาตอบโจทย์เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยชุมชนเป็นรากฐานด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียนแบบ BCG นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG) เป็นวิธีการที่แม่โจ้ได้ดำเนินการมาโดยตลอดและต่อไป “แม่โจ้โมเดล: แก้ปัญหาหมอกควันไฟป่าด้วยการบูรณาการศาสตร์ต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย สร้างอาหาร อาชีพ และอาวุธ (ปัญญา) ให้มีสุขภาพที่ดี ไม่ทิ้งภูมิปัญญาและวัฒนธรรม”