“โรฒ-2020” ถุงเพาะชำกล้าไม้ ย่อยสลายได้ ผลงานนักวิจัย ม.แม่โจ้ ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน ทำเองได้ ลดขยะ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

“โรฒ-2020” ถุงเพาะชำกล้าไม้ ย่อยสลายได้ ผลงานนักวิจัย ม.แม่โจ้ ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน ทำเองได้ ลดขยะ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ประเทศไทย เป็นประเทศเกษตรกรรมที่มีการใช้ถุงเพาะปลูกพืชจำนวนมาก ใช้ถุงเพาะชำปีละประมาณ 100 ล้านใบ ทำให้ประสบปัญหาปริมาณขยะพลาสติกจากภาคการเกษตรที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถุงเพาะชำที่มีจำหน่ายทั่วไปในท้องตลาดเป็นถุงพลาสติกที่ใช้เวลาย่อยสลายประมาณ 600 ปี ขึ้นไป ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นขยะที่มีมลพิษทั้งบนพื้นดิน และบางครั้งไหลลงสู่ทะเลเป็นมลพิษต่อสัตว์น้ำ เกิดเป็นไมโครพลาสติกที่กลับมาเป็นอันตรายต่อมนุษย์ ดังนั้น การใช้ถุงเพาะชำที่ผลิตจากพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ จึงเป็นทางเลือกหนึ่งของการแก้ปัญหานี้

“โรฒ-2020” (ROT -2020) วัสดุทดแทนถุงเพาะชำกล้าไม้ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผลงานวิจัยของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ศิวโรฒ บุญราศรี อาจารย์ประจำสาขาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จึงเป็นอีกทางเลือกในภาคการเกษตร ที่เกษตรกรทำเองได้ ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน ช่วยลดขยะ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ศิวโรฒ ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า “ถุงโรฒ-2020 นอกจากจะมีประโยชน์ทางตรงในการเพาะชำกล้าไม้แล้ว ยังมีข้อดีอีกหลายด้าน เช่น ด้านวิชาการ ถุงโรฒ2020 (rot2020) เป็นวัสดุย่อยสลายทางชีวภาพชนิดใหม่ ที่สามารถผลิตได้ง่าย ด้านสังคม ด้านชุมชนและพื้นที่ ด้านสิ่งแวดล้อม ถุงโรฒ2020 (rot2020) เป็นถุงเพาะชำที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมชนิดใหม่ที่คนในชุมชน เกษตรกร สามารถผลิตใช้ได้เอง อีกทั้ง ช่วยสนับสนุนนโยบายของรัฐในการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตร ยางพารา และมันสำปะหลัง วัสดุชีวภาพ วัสดุสีเขียว และเศษฐกิจหมุนเวียน รวมถึง ด้านเศรษฐกิจ ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร ยางพารา มันสำปะหลัง ได้ถุงเพาะชำที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เกิดการไหลวนของระบบเศษฐกิจ ในประเทศไทยการเพาะชำกล้าไม้มีการใช้ถุงเพาะชำประมาณ 100 ล้านใบต่อปี นอกจากนี้ยังมีความต้องการของภาคเอกชนอื่น ๆ ที่ต้องการปลูกผักอินทรีย์ ปลูกผักปลอดภัยอีกจำนวนมาก แม้ในขณะนี้ต้นทุนการผลิตจะอยู่ที่ประมาณใบละ 80 สตางค์ แต่ในอนาคตซึ่งกำลังอยู่ในการขอจดสิทธิบัตรเพื่อผลิตเชิงพาณิชย์ จะทำให้ต้นทุนการผลิตถูกลง จะเป็นอีกทางเลือกให้กับเกษตรกรได้ทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น”